sound.gif (10080 bytes)

ซาวน์การ์ด (Sound Card)

จากอดีตที่คอมพิวเตอร์ยังไม่สามารถ "พูด" ได้ คำว่า "พูด" นี้หมายถึงการที่คอมพิวเตอร์สามารถส่งเสียงออกมาได้ นอกจากเสียง "ปี้บ" ปกติที่ออกมาจากลำโพงของพีซี จนเมื่อมีผู้ที่คิดผลิตซาวน์การ์ดขึ้นมา ก็เริ่มทำให้การใช้คอมพิวเตอร์มีสีสันขึ้นมา โดยเฉพาะในวงการเกมที่จะต้องใช้ทั้งภาพที่ดูสมจริง และเสียงที่เร้าใจ เพื่อที่จะทำให้เกมนั้นมีความสนุกสนานขึ้นมากกว่าเก่า 
เมื่อมีผู้ที่บุกเบิกตลาดซาวน์การ์ดขึ้นมา ก็เป็นธรรมดาที่จะมีผู้ที่ผลิตซาวน์การ์ดออกมาขายกันมากมาย จากในอดีตที่ซาวน์การ์ดมีราคาสูงถึง 3-4 พันบาท จนในปัจจุบันสามารถหาซื้อซาวน์การ์ดได้ในราคาประมาณ 1 พันบาท 
วงการเกมจะได้รับประโยชน์จากซาวน์การ์ดมากที่สุด เพราะเกมต่าง ๆ ที่ผลิตขึ้นมานั้น ต่างก็ต้องการความตื่นเต้นสนุกสนาน และสิ่งที่จะทำให้เกิดสิ่งนี้ขึ้นมาก็คือ เสียง เพราะแค่ลำพังภาพที่มีสีสันสวยงาม จะเป็นสองมิติหรือสามมิติก็ได้ แต่ขาดเสียงประกอบ ก็ออกจะขาดอรรถรสในการเล่นเกมไปไม่ใช่น้อย 
การ์ดเสียงในปัจจุบันมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ แบบ FM Synthesis และแบบ Wavetable Synthesis 
การ์ดเสียงแบบ FM Synthesis นั้นเป็นการ์ดเสียงเทคโนโลยีเก่าที่มักจะใช้ชิพ OPL ของ YAMAHA ในการสร้างเสียง ซึ่งการ์ดเสียงชนิดนี้จะใช้การสร้างเสียงจากการสังเคราะห์เสียง หรือสร้างเสียงเลียนแบบเครื่องดนตรีชนิดต่างๆ คุณภาพเสียงที่ได้อยู่ในชั้นดี แต่ความสมจริงคงจะไม่มากนัก ขึ้นอยู่กับการออกแบบของการ์ดเสียงแต่ละตัว ในปัจจุบันการ์ดเสียงชนิดนี้ยังเป็นที่นิยมอยู่ เพราะมีราคาถูก ติดตั้งง่าย เหมาะสำหรับใช้ในการเล่นเป็นครั้งคราวหรือใช้ในงานมัลติมีเดียทั่วๆ ไป 
การ์ดเสียงแบบ Wavetable Synthesis เป็นการ์ดเสียงรุ่นใหม่ ใช้เทคโนโลยี Wavetable คือ จะเก็บตัวอย่างเสียงจริง ๆ ของเครื่องดนตรี หรือเสียงเอฟเฟ็คต่าง ๆ ในแบบตารางเสียงลงในชิพ ROM (Read Only Memory เป็นหน่วยความจำชนิดหนึ่งคล้าย RAM แต่สามารถอ่านได้อย่างเดียว) เพื่อรอการประมวลผล ซึ่งต่างกับแบบ FAM Synthesis ที่ใช้การสังเคราะห์เสียง หรือการสร้างเสียงเลียนแบบคุณภาพเสียงที่ออกมาจึงสู้แบบ Wavetable ไม่ได้ ขนาดของหน่วยความจำ ROM ที่ใช้ในการเก็บตัวอย่างเสียงนั้น จะมีผลกับคุณภาพของเสียง และความเหมือนจริงของเสียงโดยตรง เพราะยิ่งมีขนาดใหญ่เท่าไรตัวอย่างของเสียงที่เก็บก็จะมีมากเท่านั้น การที่ตัวอย่างของเสียงที่เก็บไว้มีมากขึ้นก็หมายความว่า มีตัวอย่างเสียงหลากหลายรูปแบบมากขึ้น มีชนิดของเสียงหลายชนิดมากขึ้น โอกาสที่การ์ดเสียงจะต้องสังเคราะห์เสียงขึ้นมาใหม่ก็มีน้อยลง ความเหมือนจริงของเสียงก็จะมากขึ้น เพราะเมื่อคอมพิวเตอร์สั่งให้การ์ดเสียงสร้างเสียงที่ไม่มีในตารางเสียง การ์ดเสียงจะสังเคราะห์เสียงขึ้นมาใหม่ ความเหมือนจริงก็จะน้อยลง 
การใช้การ์ดเสียงสำหรับงานทั่วๆ ไปรวมทั้งใช้ในการเล่นเกมบ้างเป็นครั้งคราวนั้น ควรใช้การ์ดเสียงราคาถูกธรรมดาๆ แบบFM Synthesis ที่สนับสนุนมาตรฐานเสียง SoundBlaster ก็เพียงพอแล้ว (สำหรับใช้งานร่วมกับซอฟต์แวร์ หรือเกมรุ่นเก่าๆ ) แต่ถ้าต้องการความสามารถในการเล่นไฟล์แบบ MIDI, แต่งเพลง หรือต้องการใช้ในการเล่นเกม ให้มีความไพเราะและสมจริงมากขึ้น ก็เพียงซื้อ Daughter Board ที่เป็น Wavetable มาต่อเพิ่มเติมจะคุ้มค่ากว่า 
สำหรับผู้ใช้ระดับมืออาชีพ เช่น นักแต่งเพลง หรือผู้ที่ต้องการเสียงที่สมจริงที่สุดนั้น การ์ดเสียงแบบ Wavetable Synthesis จะเหมาะสมที่สุด เพราะการ์ดเสียงชนิดนี้จะให้เสียงดนตรี หรือเสียงจากเกมสมจริงที่สุด หน่วยความจำ ROM ที่มีในการ์ดเสียงแบบ Wavetable นั้นถ้ามีขนาดใหญ่เท่าใด ก็จะทำให้เสียงที่เล่นจากไฟล์ MIDI หรือจากเกมมีความสมจริงมากขึ้นเท่านั้น ROM ขนาด 512KB ซึ่งภายในเป็นข้อมูลตัวอย่างเสียงที่มีการบีบอัดจาก 1MB ก็เป็นขนาดที่น้อยที่สุดที่จะใช้ในการสร้างเสียงสมจริงแบบ Wavetable แต่ถ้าให้ดีที่สุดก็ควรที่จะมีอย่างต่ำ 2MB คุณภาพของเสียงจึงจะสมบูรณ์ที่สุด


ซื้อซาวน์การ์ดแบบไหนดี ?

ซาวน์การ์ดที่จะหาซื้อมาให้นั้น ขึ้นอยู่กับการใช้งานของตนเองว่าจะซื้อซาวน์การ์ดไปใช้ทำอะไร คำว่า 8 16 และ 32 บิต ที่พูดกันนี้ไม่ใช่การเชื่อมต่อกับคอนเน็กเตอร์ของสล็อตที่เป็นแบบ 16 บิต ISA หรือ 32 บิต PCI แต่เป็นหน่วยที่เรียกกันว่า อัตราการสุ่มตัวอย่างหรืออัตราการแซมปลิ้ง (Sampling Rate) ของเสียง 


SAMPLING RATE คืออะไร ?

Sampling Rate หรืออัตราการสุ่มตัวอย่างของเสียง คือ การสุ่มตัวอย่างหาความสูงของคลื่นเสียง ณ เวลาหนึ่ง ๆ ที่กำหนดไว้ เหตุที่เราจะต้องสุ่มตัวอย่างหาก็เพราะว่า เราก็ไม่สามารถที่จะหาความสูงของคลื่นเสียงได้ตลอดเวลา เราจึงต้องสุ่มหาโดยใช้อัตราการในการสุ่ม วัตถุประสงค์ในการสุ่มหาความสูงของคลื่นเสียง ก็คือเพื่อแปลงสัญญาณเสียงจากอนาล็อกไปเป็นดิจิตัล อย่างที่เราได้รับฟังทางลำโพงที่ต่อออกจากซาวน์การ์ด 
ปกติเมื่อเสียงๆ หนึ่งมีอัตราการสุ่มตัวอย่างเสียงสูงขึ้น ก็หมายความว่า สามารถเล่นสัญญาณเสียงนั้นได้โดยมีคุณภาพดีขึ้น เพราะสัญญาณเสียงที่ถูกสุ่มด้วยความถี่ที่มากกว่า ก็จะมีรายละเอียดของเสียงมากขึ้นไปด้วย ทำให้คุณภาพของเสียงดีขึ้นเพราะสามารถเก็บรายละเอียดของเสียงได้มากกว่านั่นเอง 
เสียงที่มีอัตราการสุ่มตัวอย่างสูง จึงทำให้เสียงที่ได้มีคุณภาพดีขึ้น แล้วตัวเลข 8 16 และ 32 บิต มาจากไหน?ตัวเลขเหล่านั้นก็คือจำนวนครั้งในการสุ่มนั่นเอง ค่าตัวเลข 8 บิตนั้นก็คือ จำนวนครั้งในการสุ่มตัวอย่าง 256 ครั้ง และถ้าค่าตัวเลขนี้สูงขึ้นก็จะทำให้จำนวนครั้งในการสุ่มตัวอย่างสูงขึ้นไปด้วย เช่น 16 บิตก็คือ การสุ่ม65,536 ครั้ง และปัจจุบันก็มีซาวน์การ์ดบางรุ่นที่สามารถแซมปลิ้งเสียงได้มากถึง 32 และ 64 บิต ซึ่งเป็นค่าที่สามารถให้ความละเอียดของเสียงได้มากก็จริง แต่ราคาก็จะแพงตามไปด้วย ดังนั้น ถ้าไม่ได้ทำงานทางด้านการแต่งเพลงหรือดนตรีแล้ว การซื้อซาวน์การ์ด 16 บิตมาใช้ก็น่าจะเพียงพอเหมาะสมดีอยู่แล้ว 
ในอดีตที่มีการผลิตซาวน์การ์ดออกมาใหม่ ๆ จะมีเพียงแค่ซาวน์การ์ด ที่มีอัตราการแซมปลิ้งเพียงแค่ 8 บิตเท่านั้น เพราะแค่ระดับการแซมปลิ้งเท่านั้น ก็สามารถให้กำเนิดเสียงดนตรีอันน่าประทับใจได้แล้ว แต่ในเมื่อความต้องการของมนุษย์ไม่มีวันสิ้นสุด ซาวน์การ์ดที่มีอัตราการแซมปลิ้งสูง ๆ ก็ได้มีการผลิตออกมา เพื่อเอาใจนักเล่นเกมทั้งหลาย สาเหตุที่บอกว่าผลิตออกมาเพื่อเอาใจนักเล่นเกม ก็เพราะว่า ตลาดเกมนั้นเป็นตลาดที่ได้รับประโยชน์จากการเกิดขึ้นมาของซาวน์การ์ดมากที่สุด เพราะแอพพลิเคชันที่ใช้ประโยชน์จากซาวน์การ์ดมากที่สุดก็คือเกม ตลาดเกมบนพีซีมีความเติบโตขึ้นมากจากการที่มีซาวน์การ์ด อัตราการแซมปลิ้งที่อยู่ในซาวน์การ์ดรุ่นใหม่ ๆ ก็คือ 32 และ 64 บิต แต่ดูจะเกินความจำเป็นสักนิดที่ผู้ใช้ธรรมดาจะซื้อมาใช้ เพราะมีราคาแพงไม่คุ้มค่าในการใช้งานอีกด้วย 


ความเข้ากันได้ในการทำงาน (Compatibility)

การเลือกซื้อซาวน์การ์ดจะต้องพิจารณาในเรื่องของความเข้ากันได้ในการทำงานหรือความคอมแพททิเบิล กันของซาวน์การ์ด คือ ซาวน์การ์ดที่ผลิตออกมาในปัจจุบันจะมีมาจากบริษัทมากมายหลายบริษัท ซึ่งต่างบริษัทก็จะผลิตซาวน์การ์ดของตนเองขึ้นมาบนพื้นฐานของเทคโนโลยีพื้นฐานที่เหมือนกันบ้างและต่างกันบ้าง แต่มีซาวน์การ์ดที่สามารถทำงานร่วมกันกับซอฟต์แวร์ต่าง ๆ ได้มากน้อยเพียงใด 
ผู้ผลิตซาวน์การืดที่ถือได้ว่าเคยเป็นเจ้าตลาด ก็คือ Sound Blaster ซึ่งมีผู้ที่นิยมใช้กันมากจนกลายเป็นมาตรฐานที่มีชื่อว่า Sound Blaster Compatible ซึ่งถ้าซาวน์การ์ดไหนที่มีความสามารถนี้ ก็เป็นซาวน์การ์ดที่สามารถนำมาใช้งานได้ แต่ถ้าซาวน์การ์ดไหนที่ไม่สนับสนุนก็จะหาซอฟต์แวร์เพื่อนำมาใช้งานได้ยากสักหน่อย ก็เพราะซอฟต์แวร์ทุกตัวไม่สามารถที่จะทำงานร่วมกันกับซาวน์การ์ดที่ใช้ระบบต่างคนต่างผลิตได้ทุกตัว จึงจะต้องหาจุดหรือมาตรฐานมาใช้เป็นบรรทัดฐานในการทำงาน 


การติดตั้งซาวน์การ์ด

ก่อนที่จะติดตั้งซาวน์การ์ดลงไปในพีซี ก็จะขอแนะนำให้ทำแบ็กอัพไฟล์ Config.sys , Autoexec.bat , Win.ini , System.ini และรีจิสทรีของวินโดวส์ 95 ก่อน เพราะหลังจากที่ติดตั้งซาวน์การืดลงไปแล้ว จะต้องติดตั้งซอฟต์แวร์ไดรเวอร์ของซาวน์การ์ดลงไปด้วย ซึ่งจะเข้าไปแก้ไขข้อมูลบางอย่างในไฟล์เหล่านี้ด้วย เผื่อเกิดเหตุการณ์ที่เมื่อติดตั้งไดรเวอร์ของซาวน์การ์ดลงไปแล้วเกิดไม่ทำงาน ก็ยังสามารถก๊อปปี้ไฟล์เหล่านี้กลับมาแทน เพื่อกลับไปสู่สถานะเดิมก่อนที่จะติดตั้งซาวน์การ์ดลงไป และอีกสิ่งหนึ่งที่จะต้องทำก็คือ สำรวจดูว่ายังมีเนื้อที่ในฮาร์ดดิสก์เหลือพออยู่หรือเปล่า เพื่อใช้ในการติดตั้งไดร์เวอร์ของซาวน์การ์ดลงไป 
  • ปิดเครื่อง ถอดปลั๊กออกและเปิดฝาเคส
  • กราวนด์ตัวเองโดยเอามือไปแตะเคส
  • สำรวจดูว่ามีสล็อตไหนบนเมนบอร์ดที่ยังว่างอยู่ และสามารถติดตั้งซาวน์การ์ดเข้าไปได้บ้างซึ่งซาวน์การ์ดส่วนใหญ่ต้องการสล็อตแบบ 16 บิตที่จะมีช่องต่ออยู่ 2 ช่อง
  • หลังจากที่เลือกสล็อตได้แล้ว ใช้ไขควงไขน็อตที่ติดอยู่กับแถบเหล็กด้านหลังออกไปก่อน และเก็บรักษาน็อตเอาไว้ให้ดี
  • นำเอาซาวน์การ์ดออกมาจากซอง พลาสติกที่หุ้มเอาไว้ โดยจับที่ขอบของซาวน์การ์ดที่เป็นพลาสติกห้ามจับในส่วนที่เป็นทองแดงที่เป็นหน้าสัมผัสของการ์ด
  • วางซาวน์การ์ดลงบนสล็อต แล้วค่อย ๆ กดลงไปรอบ ๆ จนคุณไม่สามารถมองเห็นแถบสีทองที่หน้าสัมผัสของการ์ดเสียบเข้าไปในสล็อตได้
  • ใช้ไขควงไขน็อตที่ถอดออกมากลับเข้าไป
  • ถ้ามีซีดีรอมติดตั้งอยู่ด้วย และใช้สายสัญญาณที่ต่อเข้ามายังซาวน์การ์ดด้วย ก็ให้ต่อสายสัญญาณนี้เข้ามายังคอนเน็กเตอร์ ที่อยู่ด้านข้างของซาวน์การ์ด ซึ่งจะสังเกตได้อย่างง่ายๆ เพราะจะเป็นคอนเน็กเตอร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดบนการ์ด
  • จากนั้นก็ต่อสายสัญญาณออดิโอ (Audio Cable) จากด้านหลังของไดรว์ซีดีรอมเข้าไปยังออดิโอคอนเน็กเตอร์บนซาวน์การ์ด ปกติแล้วจะมีการเขียนกำกับไว้ที่คอนเน็กเตอร์ด้วยว่า "CD-in"
  • ต่อสายลำโพงเข้าไปที่ช่องต่อลำโพงด้านหลัง43. ของซาวน์การ์ด
  • เปิดเครื่องแล้วติดตั้งไดรเวอร์ของซาวน์การ์ดลงไป เพื่อทดสอบว่าซาวน์การ์ดทำงานได้หรือไม่ก่อนที่จะปิดฝาเคส เพราะถ้าไม่ทำงานก็สามารถถอดการ์ดออกมาแล้วเสียบเข้าไปใหม่ได้ในกรณีที่เสียบไม่แน่น จากนั้นก็ติดตั้งซอฟต์แวร์ไดรเวอร์ของซาวน์การืดลงไป โดยทำตามขั้นตอนการติดตั้งตามปกติ ถ้าการ์ดไม่ทำงาน ก็ลองถอดออกมาแล้วเสียบเข้าไปใหม่ ตรวจดูว่าสายลำโพงเสียบแล้วหรือยัง เปิดเสียงลำโพงแล้วหรือยัง ลำโพงทำงานปกติหรือไม่
  • ถ้าการทำงานของซาวน์การ์ดเรียบร้อยแล้ว ปิดฝาเคสและไขน็อตกลับไปให้เรียบร้อย

?