หน่วยความจำ (RAM)

หน่วยความจำ หรือมักจะเรียกกันว่าแรม (Random Access Memory-RAM) เป็นส่วนที่สำคัญที่พีซีทุกเครื่องจะต้องมี หน่วยความจำมีหน้าที่ในการเก็บข้อมูลชั่วคราว เพื่อส่งไปให้ซีพียูประมวลผล และเก็บข้อมูลที่ประมวลผลเรียบร้อยแล้วเพื่อรอส่งไปให้กับอุปกรณ์อื่น ๆ ต่อไป เช่น ฮาร์ดดิสก์หรือการ์ดแสดงผล แรม จะมีความเร็วสูงกว่าฮาร์ดดิสก์มาก ซึ่งจะมีหน่วยวัดความเร็วเป็นนาโนวินาที (หนึ่งส่วนพันล้านวินาที) ในขณะที่ฮาร์ด-ดิสก์จะมีหน่วยความเร็วเป็นมิลลิวินาที

 

 

ชนิดของแรม

แรมที่ใช้เป็นหน่วยความจำของพีซีจะมีอยู่ 3 ชนิด คือ ชนิด 30 pin, 72 pin และ 168 pin ซึ่งปัจจุบัน นี้คงจะไม่มีแรมชนิด 30 pin ขายกันอีกต่อไปแล้ว เพราะเป็นแรมรุ่นเก่าใช้เทคโนโลยีเก่าที่ผลิตกันมานานหลายปี แรมที่มีขายกันในปัจจุบันก็จะเหลืออยู่ 2 ชนิด คือ 72 pin และ 168 pin และแรมชนิด 72 pin ก็เริ่มที่จะหมดไปจากตลาดแล้วเช่นกันเพราะมีแรมชนิด 168 pin เข้ามาทอแทนด้วยประสิทธิภาพและความเร็วที่เหนือกว่าเพราะจะมีความกว้างของแถบสัญญาณที่กว้างกว่า ทำให้สามารถส่งข้อมูลไปยังซีพียูที่มีความเร็วสูงได้รวดเร็ว เพื่อที่ให้เหมาะสมกับความเร็วของซีพียู มิเช่นนั้นแล้วก็อาจจะเกิดปัญหาที่เรียกกันว่าคอขวด (Bottleneck) ซึ่งเกิดจากการที่อุปกรณ์อื่นๆ ส่งข้อมูลมาที่แรม แต่แรมไม่สามารถส่งข้อมูลไปประมวลผลที่ซีพียูได้ทัน ทำให้ข้อมูลที่ส่งมาค้างสะสมที่แรม ทำให้ประสิทธิภาพโดยรวมของพีซีช้าลงตามไปด้วย 
หลายคนอาจจะสงสัยว่า แล้วแรมชนิด 30 72 และ 168 pin แตกต่างกันตรงไหน อย่างที่บอกไปแล้วว่าแรมชนิด 168 pin จะมีความเร็วกว่าชนิด 72 และ 30 pin ความแตกต่างกันอีกอย่างก็คือ แรมชนิดเก่าที่มีความกว้างของแถบข้อมูลเพียง 8 บิตเท่านั้น ในขณะที่ชนิด 72 pin มีความกว้าง 32 บิต และ 168 pin มีความกว้างมากถึง 64 บิต เมื่อความกว้างของแถบข้อมูลต่างกันอย่างนี้ ทำให้แรมที่มีความกว้างของแถบข้อมูลมากกว่าสามารถส่งข้อมูลได้ครั้งละมาก ๆ และสามารถใส่แรมได้ครั้งละแถวได้ 
เมื่อพูดถึงแถวหรือ bank ในการใส่แรม จะขอขยายความพูดถึง bank สักเล็กน้อย คือ bank สำหรับใส่แรมบนเมนบอร์ดทั่วไปจะมีอยู่ 2 bank แต่ละ bank สามารถใส่แรมได้ 4 แถว เมื่อรวมกัน 2 bank แล้วก็จะมีแรมทั้งหมดที่ใส่ได้ 8 แถว แต่บนเมนบอร์ดรุ่นใหม่อาจลดเหลือเพียง 1 bank เท่านั้น เพราะว่าไม่จำเป็นจะต้องใส่แรมให้ครบแถว ยกตัวอย่างเช่น พีซีที่ใช้ซีพียูเพนเทียมซึ่งจะใช้แถบข้อมูลที่มีความกว้าง 64 บิต ถ้าใช้แรมชนิด 72 pin ที่มีความกว้างแถบข้อมูล 32 บิต จะต้องใส่แรมชนิดนี้ 2 แถว เพื่อให้ครบความกว้างข้อมูล 64 บิตไม่สามารถที่จะใส่แรมเพียงแถวเดียวได้ แต่ถ้าใช้แรมชนิด 168 pin สามารถใส่แรมเพียงแถวเดียวได้ เพราะว่าแรมชนิดนี้มีความกว้างแถบข้อมูล 64 บิต 


หน่วยวัดความเร็วของแรม

แรมจะมีหน่วยที่ใช้วัดความเร็ว คือ นาโนวินาที (NanoSecond) หรือ ns ซึ่งแรมปกติทั่วไปก็จะมีความ เร็วตั้งแต่ 70 จนถึง 50 ns โดยตัวเลขน้อยที่สุดจะมีความเร็วสูงที่สุด หรือผู้ผลิตบางรายอาจจะใช้ตัวเลขเพียงหลักเดียว เช่น -7 ก็หมายถึง แรมที่ความเร็ว 70 ns และ -5 ก็คือ แรมที่มีความเร็ว 50 ns นั่นเอง 
ในการซื้อแรมมาใช้งานนั้นมีข้อควรจำอยู่ข้อหนึ่ง คือ ควรจะซื้อแรมที่มีความเร็วเท่ากันมาใช้ เพราะไม่เช่นนั้นแล้วอาจจะทำให้คอมพิวเตอร์ทำงานได้ช้าลงกว่าที่ควรจะเป็น หรือบางเครื่องอาจจะใช้งานไม่ได้ไปเลย เช่นถ้าแรมเดิมมีความเร็ว -5 (50 ns) ก็ควรจะซื้อแรมที่มีความเร็ว -5 เท่ากันมาใช้ เพราะถ้านำแรมที่ช้ากว่าหรือเร็วกว่าเดิมมาใช้ จะทำให้แรมที่มีช้ากว่าหรือเร็วกว่าเดิมมาใช้ จะทำให้แรมตัวที่ช้าไปหน่วงการทำงานของแรมตัวที่เร็วกว่า ซึ่งอาจจะส่งผลให้การทำงานของแรมและซีพียูผิดพลาดได้ 


แรมเท่าไรจึงจะดี ?

ในการใช้งานคอมพิวเตอร์ทุกวันนี้ ขนาดของแรมที่เหมาะสมในการใช้งานกับวินโดวส์ 95 น่าจะเป็น 32 เมกะไบต์ แต่ความจริงแรมเพียง 16 เมกะไบต์ก็สามารถใช้งานได้แล้ว แต่มันก็จะให้ประสิทธิภาพที่ไม่ดีเท่าใดนักขอให้นึกว่า "แรมยิ่งมากยิ่งดี" เพราะจะทำให้วินโดวส์ 95 มีพื้นที่สำหรับเก็บข้อมูลไปประมวลผลได้มาก และราคาแรมในปัจจุบันก็ได้ลดลงมาเป็นอย่างมากแล้ว จากในอดีตที่จะมีราคาขายประมาณเมกะไบต์ละ 1000 บาท และในตอนนี้อาจจะเหลือเมกะไบต์ละไม่ถึง 100 บาทแล้วก็ได้ 


การถอดแรมเก่าออก

  • กราวน์ตัวเองเสียก่อน
  • มองที่ตรงตำแหน่งด้านข้างของแถวแรมแต่ละแถวจะพบกับตัวล็อกที่เป็นอะลูมิเนียมขนาบข้างแรมอยู่ ให้ปลดตัวล็อกนี้โดยการดันตัวล็อกทั้งสองข้างออกไปด้านข้าง
  • ดึงแรมออกมาในแนวเฉียง

ข้อควรระวังในการจับแรม

ไม่ควรจับแรมบริเวณที่เป็นทองแดง หรือส่วนที่เป็นคอนเน็กเตอร์ที่จะต้องเสียบลงไปในแผงแรมเพราะ มืออาจจะสกปรก ทำให้ส่วนของคอนเน็กเตอร์สกปรกตามไปด้วย ควรจับบริเวณที่เป็นพลาสติกด้านข้างมากว่า 


การติดตั้งแรม

  • ทำการกราวน์ตัวเองเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาไฟฟ้าสถิตย์จับแรมบริเวณที่เป็นพลาสติกแล้วทำการเสียบลงไปในด้านที่อยู่ตรงกันข้ามกับตัวล็อก ในแนวเฉียงประมาณ 45 องศา
  • ดันด้านหลังของแรมไปที่ด้านหน้าให้ตัวล็อกสามารถล็อกเข้ากับแรมได้พอดีทั้งสองข้าง ถ้าดันเข้าไปไม่ได้ อย่าพยายามฝืนให้ลองดึงออกมาใหม่แล้วดันเข้าไปใหม่อีกครั้งหนึ่ง
  • ควรใส่แรมจากด้านในสุดก่อน ทำให้สามารถใส่แรมได้ง่ายกว่าการใส่แรมจากด้านนอก เพราะถ้าใส่แรมจากด้านนอกก่อน จะทำให้ไม่สามารถใส่แรมที่อยู่ด้านในในแนวเฉียง 45 องศาได้ 

 
 

?

?