harddisk.gif (8679 bytes)

ฮาร์ดดิสก์ (Harddisk)

เมื่อพูดถึงสื่อหรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการเก็บข้อมูล ก็คงจะหนีฮาร์ดดิสก์ไปไม่พ้น เพราะฮาร์ดดิสก์คือแหล่งที่ใช้เก็บข้อมูลบนคอมพิวเตอร์ที่มีความสำคัญ เพราะมันจะเก็บข้อมูลทั้งหมดตั้งแต่ระบบปฏิบัติการ โปรแกรมใช้งานและข้อมูล 
ฮาร์ดดิสก์หรือมักจะมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ฟิกซ์ดิสก์ (Fixdisk) เพราะว่ามันจะเป็นดิสก์ที่ยึดติดไว้แน่นกับคอมพิวเตอร์นั่นเอง (ต่างหากแผ่นดิสก์ที่สามารถเคลื่อนย้ายได้) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการเก็บข้อมูลที่ได้รับการพัฒนามาเนิ่นนาน และก็ยังได้รับการพัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง จากในอดีตที่ฮาร์ดดิสก์ความจุเพียงแค่ 10 ถึง 20 เมกะไบต์ ที่มีขนาดรูปร่างที่ใหญ่โตเอาการประมาณ 5 นิ้ว มาจนถึงฮาร์ดดิสก์ที่มีความจุเป็นกิกะไบต์ แต่รูปร่างกลับเล็กลงจนเหลือขนาดเพียงแค่ 2.5 นิ้วเท่านั้น และราคาก็ลดลงจนสามารถหาซื้อได้อย่างสบาย แต่ก็จะเรียกว่าลดราคาก็คงจะไม่ถูกต้องนัก เพราะแท้จริงแล้วราคาของฮาร์ดดิสก์นั้นแทบจะเรียกได้ว่า ไม่ได้ลดลงอะไรมากมาย เพียงแต่ได้ฮาร์ดดิสก์ที่มีความจุมากขึ้น ในราคาที่คงเดิมเท่านั้นเอง จึงทำให้มันดูเหมือนว่าราคาได้ลดลงมา


อินเทอร์เฟซของฮาร์ดดิสก์

อินเทอร์เฟซคือส่วนเชื่อมต่อของฮาร์ดดิสก์ที่จะต่อเชื่อมเข้าไปยังคอมพิวเตอร์อินเทอร์เฟซของฮาร์ดดิสก์ มีอยู่หลายชนิด แต่ชนิดที่นิยมใช้กันในปัจจุบัน ก็คือ E-IDE (Enhance IDE) และ SCSI (อ่านว่า สะ-กัส-ซี) ซึ่งข้อแตกต่างระหว่างอินเทอร์เฟซทั้งสองชนิดนี้คือ 


SCSI ความเร็วที่ไม่เหมือนใคร

อินเทอร์เฟซแบบ SCSI นี้ได้รับการพัฒนาขึ้นมาจากเหตุที่ว่าเมื่ออุปกรณ์ต่อพ่วงสำหรับคอมพิวเตอร์เริ่ม มีมากขึ้น จึงทำให้มีการคิดค้นอินเทอร์เฟซแบบต่างๆ ขึ้นมากมาย ทำให้ใช้งานได้ยากและอาจจะใช้งานร่วมกันไม่ได้เลย จึงได้เริ่มมีการคิดกันว่าน่าจะอินเทอร์เฟซที่เป็นมาตรฐานในการเชื่อมต่อสักชนิด ที่นอกจากจะนำไปใช้กับฮาร์ดดิสก์แล้ว ยังสามารถนำไปใช้กับอุปกรณ์อื่น ๆ ได้อีกด้วย เช่น ซีดีรอมไดรว์ ออปติคอลดิสก์ สแกนเนอร์ หรือเทปไดรว์ต่าง ๆ เป็นต้น 
SCSI ย่อมาจากคำว่า Small Computer System Interface มีความเร็วในการถ่ายโอนข้อมูลสูงมาก และในขณะเดียวกันก็มีราคาแพง จึงไม่ค่อยจะมีการนำไปใช้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลกันสักเท่าไร เพราะส่วนใหญ่จะนำไปใช้ในระดับเวิร์กสเตชั่นหรือเครื่องเซิฟร์เวอร์ และเครื่องคอมพิวเตอร์แบบแมคอินทอช แต่รา-คาที่แพงนี้ก็สามารถให้ความเร็วในระดับที่น่าพอใจ สามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์ที่เป็น SCSI ได้มากถึง 7 ตัว โดยที่อุปกรณ์ตัวแรกจะเชื่อมต่อกับการ์ดคอนโทรลเลอร์ตัวหนึ่งที่เรียกว่า การ์ดโฮสต์อะแดปเตอร์ (Host Aadapter) ซึ่งจะเป็นการ์ดที่ควบคุมการส่งถ่ายข้อมูลของอุปกรณ์แต่ละตัวที่เชื่อมต่อกันอยู่ E-IDE พัฒนาการขั้นต่อมาของ IDE
E-IDE ได้รับการพัฒนาขึ้นมาจากพื้นฐานของ IDE ซึ่งจะปรับปรุงจุดด้อยและพัฒนาความสามารถของ IDE ขึ้นมาในอีกระดับหนึ่ง พัฒนาการสิ่งแรกที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ เรื่องของความจุฮาร์ดดิสก์แบบ IDE ไม่สามารถจะมีความจุได้เกิน 528 เมกะไบต์ แต่สำหรับฮาร์ดดิสก์แบบ E-IDE สามารถเพิ่มความจุได้มากถึง 8 กิ-กะไบต์ต่อไดรว์ และสิ่งที่สองก็คือ เรื่องของความเร็ว ฮาร์ดดิสก์แบบ E-IDE จะมีความเร็วในการถ่ายโอนข้อมูลที่ 11.1 เมกะไบต์ต่อวินาที ซึ่งถือว่าเป็นความเร็วที่สูงกว่า IDE มาก ทำให้มีผู้ที่นิยมนำไปใช้งานกันมาก เพราะเป็นฮาร์ดดิสก์ที่มีประสิทธิภาพสูง แต่ราคาต่ำ แต่อย่างไรก็ตาม ฮาร์ดดิสก์ชนิดนี้ไม่ได้มีการนำไปใช้ในทุกตลาดหมายความว่า ยังมีกลุ่มผู้ใช้กลุ่มหนึ่งที่ยังคงนิยมใช้ฮาร์ดดิสก์ SCSI กันอยู่ ด้วยเหตุผลในด้านความรวดเร็วและความน่าเชื่อถือกว่าในการทำงาน 


ฮาร์ดดิสก์ที่ดี ดูตรงไหน ?

ถ้าต้องการจะซื้อฮาร์ดดิสก์ใหม่สักตัว อาจจะมีคำถามว่าจะซื้อฮาร์ดดิสก์แบบไหนดี ในการดูประสิทธิ- ภาพของฮาร์ดดิสก์นั้น เราจะมีค่าที่ใช้วัดประสิทธิภาพอยู่สองอย่าง คือ เวาลาในการเข้าถึงข้อมูล (Access time) และอัตราการถ่ายโอนข้อมูล (Data transfer rate) 


เวลาในการเข้าถึงข้อมูล (Access time)

ฮาร์ดดิสก์ที่ใช้เวลาในการเข้าถึงข้อมูลน้อยที่สุด คือ ฮาร์ดดิสก์ที่มีความเร็วในการอ่านข้อมูลมากที่สุด หน่วยที่ใช้วัดเวลาในการเข้าถึงข้อมูลของฮาร์ดดิสก์คือมิลลิวินาที (MilliSecond-ms) ฮาร์ดดิสก์ที่ผลิตออกมาในรุ่นแรก ๆ จะใช้เวลาในการเข้าถึงข้อมูลสูงมาก คือ อยู่ในระดับ 100 ms เมื่อเทคโนโลยีของฮาร์ดดิสก์พัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ เวลาที่ใช้ก็เริ่มลดน้อยลงไปจนปัจจุบันก็จะเหลือเพียงไม่เกิน 15 ms เท่านั้น แต่ถ้าต้องการฮาร์ดดิสก์ที่มีความเร็วสูงจริง ๆ ก็ไม่นาจะดูฮาร์ดดิสก์ที่มีความเร็วต่ำกว่า 10 ms แต่ค่าเฉลี่ยโดยทั่วไปก็จะอยู่ที่ 12-13 ms 


อัตราการถ่ายโอนข้อมูล (Data transfer rate)

อัตราการถ่ายโอนข้อมูล ก็คือ เวลาที่เมื่อฮาร์ดดิสก์พบข้อมูลที่ต้องการแล้วจะใช้เวลาเท่าไรในการส่งข้อ มูลไปยังหน่วยความจำ เราเรียกว่าอัตราการถ่ายโอนข้อมูล เช่นเดียวกับเวลาในการเข้าถึงข้อมูล คือ อัตราที่เร็วกว่าก็จะทำให้ฮาร์ดดิสก์มีความเร็วในการทำงานสูง ฮาร์ดดิสก์รุ่นเก่า ๆ จะมีอัตราถ่ายโอนข้อมูลต่ำมาก ซึ่งจะมีหน่วยเป็นเมกะไบต์ต่อวินาที แต่อัตราการถ่ายโอนข้อมูลจริง ๆ อาจจะไม่ถึงก็ได้ ในฮาร์ดดิสก์รุ่นใหม่จะมีการใส่หน่วยความจำแคช (Cache) มาช่วยเพิ่มความเร็วในการถ่ายโอนข้อมูล หน่วยความจำแคชจะช่วยเสริมประสิทธิภาพในการอ่านข้อมูลจากดิสก์ หน่วยความจำแคชจะมีหน้าที่ในการรับเอาข้อมูลที่อ่านจากฮาร์ดดิสก์เพื่อส่งไปยังหน่วยความจำของเครื่อง ซึ่งความเร็วที่เพิ่มขึ้นนี้ก็เพราะว่าการอ่านข้อมูลจากดิสก์ เพื่อส่งไปหน่วยความจำจะช้ากว่าการอ่านข้อมูลจากหน่วยความจำไปยังหน่วยความจำ ซึ่งหน่วยความจำตัวแรกที่พูดถึงก็คือ แคชนั่นเอง และสาเหตุสำคัญที่ทำให้แคชช่วยเพิ่มความเร็วในการถ่ายโอนข้อมูลก็คือ เมื่อดิสก์อ่านข้อมูลไปเก็บไว้ในแคช แคชก็จะส่งข้อมูลนั้นไปให้กับหน่วยความจำ และข้อมูลในแคชก็จะคงอยู่จนกระทั่งมีข้อมูลมาใหม่มาเขียนทับลงไป แต่ตราบใดที่ข้อมูลนั้นยังอยู่ในแคช หน่วยความจำของคอมพิวเตอร์ก็สามารถเรียกเอาข้อมูลนั้นจากแคชไปได้โดยที่ตรง ไม่ต้องกลับไปเรียกข้อมูลจากฮาร์ดดิสก์อีก ซึ่งจะช่วยลดเวลาในการค้นหาข้อมูลได้ 


แบ่งพาร์ทิชันดีหรือไม่ ?

การแบ่งพาร์ทิชัน (Partition) ก็คือ การแบ่งส่วนของฮาร์ดดิสก์ออกเป็นส่วน ๆ เพื่อใช้ในการทำงานของ คอมพิวเตอร์ ซึ่งพาร์ทิชันก็คือ ส่วนของการทำงานบนฮาร์ดดิสก์นั่นเอง สามารถแบ่งพาร์ติชันของฮาร์ดดิสก์ออกเป็นหลายๆ พาร์ทิชันได้ ก่อนที่จะใช้งานฮาร์ดดิสก์ได้จะต้องทำการแบ่งพาร์ทิชันเสียก่อน ถึงแม้ว่าจะใช้เพียงแค่พาร์ทิชันเดียวก็ตาม เพราะเพียงแค่พาร์ทิชันเดียวก็ถือว่าได้แบ่งแล้ว สำหรับโปรแกรมที่ใช้สำหรับแบ่งพาร์ทิชันก็คือ FDISK ซึ่งมีมาให้พร้อมกับดอสอยู่แล้ว 


แบ่งพาร์ทิชันแล้วดีอย่างไร?

ข้อดีในการแบ่งพาร์ทิชันที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้นกับฮาร์ดดิสก์ที่ใช้อยู่ แต่เกิดขึ้นเพราะปัญหาทางด้านระบบไฟล์ (File System) หรือโครงสร้างไฟล์ (File Structure) ก็ตามเมื่อฮาร์ดดิสก์ออกเป็น 2 พาร์ทิชันแล้วเกิดความเสียหายที่พาร์ทิชันไหน ความเสียหายนั้นก็จะเกิดเฉพาะพาร์ทิชันนั้นเท่านั้น ไม่ได้ลุกลามไปยังพาร์ทิชันอื่นด้วย ดังนั้น ข้อมูลที่มีอยู่ก็จะสูญหายแค่พาร์ทิชันเดียว แต่ถ้าสร้างพาร์ทิชันไว้เพียงพาร์ทิชันเดียว เมื่อเกิดเหตุดังกล่าวข้อมูลจะสูญเสียทั้งหมด ข้อดีอีกอย่างที่หลายคนอาจจะไม่ค่อยสังเกตเห็นนัก ซึ่งก็คือ ถ้าแบ่งฮาร์ดดิสก์ออกเป็นพาร์ทิชันย่อย ๆ แล้ว จะมีเนื้อที่เพื่อจัดเก็บไฟล์เพิ่มมากขึ้น เพราะพาร์ทิชันที่มีขนาดใหญ่นั้นจะใช้เนื้อที่ในการเก็บข้อมูลมากกว่าพาร์ทิชันที่มีขนาดเล็กกว่า ในการจัดเก็บไฟล์บนฮาร์ดดิสก์นั้น ระบบปฏิบัติการจะจัดเก็บไฟล์บนตารางโครงสร้างไฟล์ หรือเรียกว่า FAT (File Allocation Table) ซึ่งจะใช้หลักการในการจัดการโครงสร้างของไฟล์ คือ จะมีการกำหนดพื้นที่ให้กับไฟล์ด้วยหน่วยที่เรียกว่าคลัสเตอร์ (Cluster) ซึ่งคลัสเตร์หนึ่งก็คือ พื้นที่บนฮาร์ดดิสก์ที่จะมีขนาดตั้งแต่ 2 ถึง 64 กิโลไบต์ ขึ้นอยู่กับขนาดของพาร์ทิชันที่จัดเอาไว้ คือ ถ้าพาร์ทิชันมีขนาดใหญ่ ขนาดของคลัสเตอร์ก็จะมีขนาดใหญ่ตามไปด้วย แต่ถ้าพาร์ทิชันมีขนาดเล็กคลัสเตอร์ก็จะมีขนาดเล็ก คอมพิวเตอร์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการดอสหรือวินโดวส์นั้นจะใช้พื้นที่ในการจัดเก็บไฟล์หนึ่งไฟล์ต่อหนึ่งคลัสเตอร์ หมายความว่าหนึ่งคลัสเตอร์สามารถเขียนข้อมูลลงไปได้เพียงไฟล์เดียวเท่านั้น ขนาดของคลัสเตอร์จะถูกกำหนดขึ้นมาโดยขนาดของพาร์ทิชัน สมมุติว่า จัดเก็บไฟล์ที่มีขนาด 600 ไบต์ บนพาร์ทิชันขนาด 500 เมกะไบต์ ซึ่งจะมีขนาดคลัสเตอร์ 8 กิโลไบต์ หรือ 8192 ไบต์ แต่จัดเก็บไฟล์ที่มีขนาดเพียง 600 ไบต์เท่านั้น จึงเสียพื้นที่ไปโดยเปล่าประโยชน์ถึง 7592 ไบต์ (เพราะหนึ่งคลัสเตอร์จะเก็บไฟล์ได้เพียงไฟล์เดียวเท่านั้น ไม่สามารถให้ไฟล์อื่นมาใช้พื้นที่ในคลัสเตอร์เดียวกัน) ถ้าใช้ฮาร์ดดิสก์ที่ใช้พาร์ทิชันขนาด 1 หรือ 2 กิกะไบต์ ซึ่งใช้คลัสเตอร์ขนาด 64 กิโลไบต์ จะสูญเสียพื้นที่ไปมากขนาดไหน โดยฮาร์ดดิสก์ขนาด 2 กิกะไบต์ อาจจะใช้เก็บข้อมูลจริงได้เพียง 1.3 กิกะไบต์ เท่านั้นก็เต็มแล้ว แต่ถ้าแบ่งพาร์ทิชันออกเป็นพาร์ทิชันย่อย ๆ เพื่อลดขนาดของคลัสเตอร์ลงก็น่าจะเป็นการใช้ประโยชน์จากฮาร์ดดิสก์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและคุ้มค่า 


การดูแลรักษาฮาร์ดดิสก์ด้วยวิธีง่ายๆ

วิธีดูแลรักษาฮาร์ดดิสก์ง่ายๆ คือ ใช้โปรแกรมที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบฮาร์ดดิสก์ เช่น Scandisk หรือ Norton disk doctor เพื่อตรวจหาข้อผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นบนฮาร์ดดิสก์ซึ่งถ้าไม่รีบหาข้อผิดพลาดและปล่อยให้ปัญหาลุกลามไปอาจทำให้ข้อมูลในฮาร์ดดิสก์สูญหายไปหมด 
อีกสิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้ฮาร์ดดิสก์มีการทำงานด้วยความเร็วสม่ำเสมอ คือ การทำ Optimize disk โดยใช้โปรแกรมที่ใช้ในการจัดเรียงข้อมูลบนฮาร์ดดิสก์ เช่น Defrag หรือ Speedisk ซึ่งสาเหตุที่จะต้องมีการทำก็เพื่อให้ข้อมูลในฮาร์ดดิสก์เรียงตัวกันเป็นระเบียบ เพื่อความรวดเร็วในการอ่านข้อมูล 
การเข้าถึงข้อมูลในฮาร์ดดิสก์เป็นการเข้าถึงแบบแรนดอมหรือเป็นแบบสุ่ม ไม่ได้เป็นการเข้าถึงข้อมูลแบบซีเควนซ์ (Sequence) หรือแบบเรียงลำดับ เหมือนอย่างเทปแบ็กอัพ ดังนั้นในการเขียนข้อมูลฮาร์ดดิสก์ก็จะมองหาว่า พื้นที่ใดที่เป็นพื้นที่ว่างที่พอจะเขียนข้อมูลลงไปได้ เมื่อใช้งานไปนาน ๆ ก็จะทำให้เกิดพื้นที่ว่างที่ไม่ต่อเนื่องกัน เพราะว่าจะมีข้อมูลบางส่วนที่ลบหรือย้ายไปในโฟลเดอร์หรือไดเรคทอรีอื่น เมื่อฮาร์ดดิสก์เขียนข้อมูลตัวเดียวกันลงไปในพื้นที่ว่างที่ไม่ต่อเนื่องกัน ทำให้การอ่านข้อมูลของฮาร์ดดิสก์ช้าลง เพราะจะต้องไปเสียเวลาหาข้อมูลจากหลายๆ ตำแหน่งบนฮาร์ดดิสก์ แทนที่จะหาได้จากตำแหน่งที่อยู่ติดกัน ส่งผลให้ความเร็วในการค้นหาข้อมูลลดลง และถ้าจะต้องค้นหาไฟล์ที่มีขนาดใหญ่จากหลายๆ ตำแหน่งบนฮาร์ดดิสก์ก็คงจะต้องใช้เวลามากพอสมควร ดังนั้น ในการจัดเรียงข้อมูลนั้นก็เพื่อให้ข้อมูลได้มีการเรียงลำดับกันอย่างถูกต้องและเป็นระเบียบ ง่ายต่อการค้นหาข้อมูล 


ความเร็วในการหมุนแผ่นจานแม่เหล็ก

ความเร็วในการหมุนแผ่นจานแม่เหล็กของฮาร์ดดิสก์นั้น จะมีผลโดยตรงกับประสิทธิภาพโดยรวมของ ฮาร์ดดิสก์มีความเร็วในการหมุนแผ่นจานแม่เหล็กสูง จะทำให้ความเร็วในการเข้าถึงข้อมูล, ความเร็วในการเลื่อนหัวอ่านไปยังแทรคของข้อมูลตำแหน่งต่าง ๆ บนฮาร์ดดิสก์ และความเร็วในการส่งผ่านข้อมูลมากขึ้น ซึ่งมาตร- ฐานความเร็วในการหมุนแผ่นจานแม่เหล็กสำหรับฮาร์ดดิสก์แบบ E-IDE ในปัจจุบันอยู่ที่ 4,500 รอบ/วินาที ซึ่งไม่ควรต่ำกว่านี้ เพราะจะทำให้ฮาร์ดดิสก์ทำงานช้าเกินไป ในฮาร์ดดิสก์ที่ใช้อินเตอร์เฟสแบบ Ultra DMA/33 นั้น ส่วนใหญ่แล้วจะมีความเร็วในการหมุนแผ่นจานแม่เหล็กเกิน 4,500 รอบ/วินาทีอยู่แล้ว แต่จะให้ดีควรอยู่ในระดับ 5,400 รอบต่อวินาที หรือสูงกว่าจะดีกว่าและเร็วกว่าสำหรับฮาร์ดดิสก์ที่ใช้อินเตอร์เฟสแบบ SCSI นั้น ควรจะมีความเร็วในการหมุนแผ่นจานแม่เหล็กไม่ต่ำกว่า 7,500 รอบ/วินาที ซึ่งก็จะช่วยทำให้ความเร็วในการทำงานของฮาร์ดดิสก์มีประสิทธิภาพสูงตามที่ควรจะเป็น 

 

 

?

?

?